Header Ads

เจาะลึกตลาด MVNO

   ตลาดมือถือในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่ยากจะหา ลูกค้าได้ มองไปรอบตัวเราทุกคนต่างมีมือถือกันหมดแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่มีคนในครอบครัวก็มีแล้ว ก็พากันไปเข้าค่ายมือถือเดียวกันเจ้าเดิมๆ เนื่องจากมีโปรโมชั่นดึงดูด โทรในเครือข่ายราคาถูกแสนถูกบ้าง บ้างก็ให้โทรฟรีไปเลย ดังนั้น ในสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างในปัจจุบัน ทำไมเรากล้าเรียกว่ามันดุเดือด ถ้าสังเกตการตลาดและการขายในบ้านเราแล้วต้องทึ่ง ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัว วันก่อนเห็นเด็กนักศึกษามุงซื้อของที่วางกับพื้น ริมรั้วสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็เลยเดินเข้าไปร่วมวงด้วย อยากรู้นักว่าซื้อขายอะไรกันอยู่ ทำไมมีคนมุงสนใจกันมากขนาดนี้ มองไปที่สินค้าต้องถึงกับอึ้ง เป็น ซิมมือถือ พบกับเจ้าหน้าที่นั่งกับพื้นกำลังเขียนใบรับจดทะเบียนอย่างขะมักเขม้น จะเห็นว่าตลาดนี้รบกันรุนแรงจริงๆ ทุกตารางนิ้วสามารถนำมาเป็นสมรภูมิได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดมือถือ หลายปีก่อนก็เกิดโมเดลธุรกิจที่โอเปอเรเตอร์ (operator) ไม่จำเป็นต้องมีโครงข่าย (network) และความถี่เป็นของตนเองก็ให้บริการได้ แต่เป็นการไปซื้อเหมาทราฟฟิก (ทั้ง Voice และ Non-voice) แถมยังช่วยเพิ่มปริมาณการใช้งานโครงข่าย (network utilization) ที่ลงทุนไปแล้วสำหรับโอเปอเรเตอร์เดิมในตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด Mobile Virtual Network Operator (MVNO) ถูก กล่าวถึงค่อนข้างบ่อย มีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ และต้องทำให้หลายบริษัทล้มหายตายจากไป หรือไม่ก็ต้องควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดบนเวทีนี้

MVNO เจ้าแรกๆ ของโลก

Virgin Mobile ถูกกล่าวถึงว่าเป็น MVNO เจ้าแรกๆ ของโลก Virgin Mobile USA เป็น MVNO ที่ให้บริการกับกลุ่มลูกค้าเติมเงิน (prepaid) ในอเมริกา และจะขยายบริการสู่กลุ่มลูกค้ารายเดือน (postpaid) หลังจากควบรวมกิจการกับ Helio ที่มีโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่าง SK Telecom อยู่เบื้องหลัง แต่เดิมแบรนด์ Helio มีกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 32 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่ และมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แตกต่างจาก Virgin Mobile อยู่บ้างแต่กลุ่มเป้าหมายของทั้งคู่มีช่วงอายุค่อนข้างสอดคล้องกัน แถมยังใช้โครงข่ายเดียวกันในการให้บริการอีกด้วย (ใช้โครงข่ายของ Sprint Nextel) หลังจากการควบรวมกิจการทางบริษัทเชื่อว่าจะทำให้อัตราการยกเลิกบริการ (churn rate) จะลดลง โดยจากเดิมที่กว่าร้อยละ 20 ยกเลิกไปใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนของโอเปอเรเตอร์รายอื่น ก็จะเป็นการไหลของผู้ใช้ภายในบริษัทเดียวกัน สำหรับจำนวนผู้ใช้บริการใน Virgin Mobile และ Helio มีอยู่ประมาณ 5.1 ล้านราย และ 1.7 แสนรายตามลำดับ (ข้อมูลเมื่อกลางปี 2008)  นอกจากข้อดีในเรื่องการลดอัตราการยกเลิกบริการแล้ว ยังจะได้ข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนเครื่องมือถือ และค่าใช้โครงข่ายจาก Sprint Nextel ด้วย economies of scale นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่บริษัทใหม่เพื่อเป็นการ เพิ่มสภาพคล่องและใช้ชำระหนี้ระยะยาวอีกด้วย Helio นับเป็นกรณีศึกษาของธุรกิจ MVNO ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากต้องลาจากวงการในเวลาอันรวดเร็ว โดยได้เปิดให้บริการไปช่วงกลางปี 2006 และมีข่าวว่าจะควบรวมกิจการกับ Virgin Mobile ซึ่งเป็น MVNO ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ในช่วงเดียวกันของปี 2008 นอกจาก Helio ต้องประสบปัญหาทางธุรกิจแล้ว ยังมี MVNO อีกหลายรายที่ลาโลกไปก่อนกำหนดอย่าง Amp’d Mobile, ESPN Mobile และ Disney Mobile แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าธุรกิจ MVNO จะ ไม่มีทางเกิด อย่างที่ทราบกันดีว่า กรณีศึกษาหรือโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศไม่สามารถเป็นสูตร สำเร็จที่จะหยิบยกมาใช้ได้กับทุกประเทศทุกตลาดแล้วรับประกันความสำเร็จ แน่นอน เช่นเดียวกันกับความล้มเหลวในต่างประเทศก็ไม่ใช่ว่าจะเอามาใช้ไม่ได้ต้อง เจ๊งเสมอไป มันขึ้นกับสภาพตลาด กลยุทธ์ และความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างลึกซึ้งเป็นต้น ที่จะช่วยให้เราสามารถโลดแล่นได้บนถนนที่มีการแข่งขันสูงอย่างตลาดมือถือนี้

ผู้ที่จะเข้าสู่ธุรกิจ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) นอก จาก การเข้าใจลูกค้าอย่างถึงแก่นแล้ว ยังต้องสามารถนำเอาศักยภาพภายในไปใช้เป็นไม้เด็ด ตีเข้าจุดอ่อนของคู่แข่งในตลาด หรือแม้แต่การตอบสนองลูกค้าที่ยังไม่ได้รับบริการ พูดง่ายๆ ว่าเป็นกลุ่มที่เจ้าตลาดยังมองไม่เห็น ที่มองไม่เห็นไม่ใช่ว่าลูกค้าไปแอบไปหลบที่ไหน แต่ผู้ประกอบการอาจจะมองข้ามไปก็ได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งมีโอกาสชนะร้อยครั้ง” เราจงใจที่จะเพิ่มคำว่า “มีโอกาส” เข้า ไป เพราะถ้าว่ากันด้วยหลักวิชาการแล้ว คงไม่มีใครกล้าพูดว่ามีความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นที่จะชนะร้อยครั้งแน่ๆ แต่น่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำมากกว่าว่า มีโอกาส (ตามหลักสถิติที่พูดถึง ระดับความเชื่อมั่น (confidence interval) นั้นเอง)

การกำหนดกฎกติกา เพื่อควบคุมธุรกิจ MVNO เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องมีความชัดเจน ขอยกตัวอย่างกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในอินเดีย ที่เกิดจากความไม่ชัดของกฎระเบียบ Virgin Mobile ได้เปิดให้บริการภายใต้ Tata Indicom โดยอ้างว่าเป็นแบรนด์ย่อยภายใต้ Tata แต่กลับถูกกล่าวหาจากคู่แข่งในตลาดว่า การให้บริการในลักษณะนี้จัดว่าเป็น MVNO ไม่ใช่แบรนด์ย่อยทั่วไป ผู้กำกับกิจการโทรคมนาคมของอินเดีย (Telecom Regulatory Authority of India: TRAI) ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลสำหรับกฎระเบียบการให้บริการ MVNO โดยเปิดกว้างให้ MVNO สามารถเลือกดำเนินธุรกิจได้ตั้งแต่ลักษณะการทำธุรกิจแบบเอาท์ซอร์สให้กับ เจ้าของโครงข่าย (Mobile Virtual Network Enabler: MVNE) ทั้งหมด หรือจะควบคุมระบบหลังบ้าน (back-end system) เอง นอกจากนี้ยังเปิด กว้างในการเลือก MVNE โดย ไม่จำเป็นต้องใช้โครงข่ายของเจ้าเดียว แต่อาจจะเลือกโอเปอเรเตอร์ที่แตกต่างกันเพื่อให้บริการในแต่ละพื้นที่ กรณีหลังนี้น่าจะเหมาะกับประเทศที่มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะ MVNO ยังได้ประโยชน์จาก การประหยัดเชิงปริมาณ (economies of scale) และเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับ MVNO อีกด้วย แต่สำหรับประเทศเล็กมีพื้นที่ไม่มาก หรือเป็นประเทศใหญ่แต่มีจำนวนผู้ใช้อยู่ค่อนข้างมากแล้ว (penetration rate สูง) อาจทำให้นโยบายเปิดกว้างลักษณะนี้จะอยู่แต่ในกระดาษเท่านั้น คงจะนำมาใช้งานจริงได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม คงจะเห็นมวยรองทำตัวเป็น MVNE คงไม่ใช่โอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาด อยู่จะลงมาเล่นในธุรกิจ MVNO เพราะลำพังลูกค้าของตัวเอง capacity ก็จะไม่พออยู่แล้ว

ขณะที่ บาง MVNO ได้ตัดช่องน้อยแต่พอตัวอำลาวงการไปก่อนโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่จากความสำเร็จของเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) ในสหรัฐ และแคนาดา ภายใต้ชื่อ 7-Eleven Speakout Wireless ทำให้ยักษ์ใหญ่ในโลกค้าปลีกรุกเข้าตลาดเอเชีย โดยจะเปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์ นำร่องโดยการเปิดบริการ 7-Connect ในร้านที่เป็นแขนขาของตนเองอยู่แล้วถึง 400 แห่ง โปรโมชั่นที่จะนำมาสะเทือนวงการก็หนีไม่พ้น ฟรี ฟรี แล้วก็ฟรี โดยให้โทรฟรีในช่วงกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์ และใช้โครงข่ายของ M1 โอเปอเรเตอร์ในสิงคโปร์ การใช้งานแบบเติมเงิน (prepaid) นอก จาก นำเสนอให้โทรฟรีแล้ว ยังรวมถึงบริการเสริมพื้นฐาน และการโอนจำนวนนาทีที่เหลือข้ามไปใช้ได้ในเดือนถัดไปอีกด้วย เซเว่นอีเลฟเว่นประสบความสำเร็จในสหรัฐ โดยใช้โครงข่ายของ at&t Mobility และเครื่องมือถือจากโนเกีย การเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาจจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนในวงการโทรคมนาคม เนื่องจากผู้ให้บริการ MVNO หลายรายได้ปิดตัวลง หรือกำลังจะเลิกให้บริการ นอกจาก เซเว่นอีเลฟเว่น แล้วยังมีผู้ร่วมอุดมการณ์ทางธุรกิจอย่าง Virgin Mobile ที่ได้ซื้อกิจการของ Helio ซึ่งเป็น MVNO อีกราย แถมยังมีโปรโมชั่นแรงๆ อย่างโทรเท่าไหร่ก็ได้โดยคิดราคาเหมาจ่ายอีกด้วย

บริษัท Vectone Mobile เป็นโอเปอเรเตอร์ที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ MVNO โดย ให้บริการครอบคลุมประเทศต่างๆ ในยุโรปอาทิเช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ได้ประกาศตั้งส่วนการตลาดขึ้นใหม่ภายใต้บริษัทแม่ที่ลอนดอน เพื่อดูแลธุรกิจ MVNO ในยุโรป ด้วยงบประมาณสำหรับกิจกรรมการตลาดของบริษัทเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทเพิ่งประกาศจะเปิดให้บริการ MVNO เพิ่มเติมอีกหนึ่งประเทศคือสเปนเมื่อไม่นานมานี้ ทาง บริษัทได้ดึงตัวนักการตลาดผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้เข้ามาเสริมทัพ ทำให้บริษัทเข้าสู่องค์กรบริการด้านการตลาด MVNO ที่สมบรูณ์แบบ ทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าบริษัทจะเข้มแข็งขึ้นจากจุดแข็งทั้งที่สามารถจับ กลุ่มลูกค้า MVNO และพัฒนาบริการใหม่ๆ บน MVNO ได้ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันความต้องการของผู้ใช้ที่มีมากขึ้นหลากหลายขึ้น จากกลุ่มผู้ใช้บริการที่เดินทางทั่วยุโรป นอกจากนี้ทางบริษัทยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศอีกด้วย

โอเปอเรเตอร์ในประเทศฟิลิปปินส์ Philippine Long Distance Telephone (PLDT) ได้ส่งบริษัทในเครือทำสัญญากับบริษัท Hutchison ในการให้บริการ MVNO ภายใต้แบรนด์ “SMART Pinoy” โดย จะให้บริการโทรศัพท์และส่งข้อความในราคาถูกจากอิตาลีมายังฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังรองรับบริการอื่นๆ อาทิเช่น ดาวน์โหลด แชร์เครดิตของแอร์ไทม์สำหรับลูกค้าแบบเติมเงิน หรือแม้กระทั่งบริการที่ได้รับความนิยมในอิตาลีอย่างวิดิโอคอลล์ หรือโทรศัพท์ที่พูดคุยแล้วเห็นหน้ากัน (video call) รวมถึงบริการวิดิโอสตรีมมิ่ง (streaming) อีกด้วย การให้บริการใน ลักษณะกิจการร่วมค้า (joint venture) ภายใต้โมเดลธุรกิจแบบ MVNO ทำ ให้ บริษัทไม่จำเป็นต้องมีความถี่เป็นของตนเอง แต่ใช้โครงข่ายของบริษัทที่ร่วมค้ากันในแต่ละประเทศ โดยมีการทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆ อีกด้วยอาทิเช่น ฮ่องกง และ สิงค์โปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวฟิลิปปินส์ทำงานอยู่มากเช่นเดียวกับในอิตาลี ซึ่งคาดกันว่าน่าจะมีประชากรชาวฟิลิปปินส์ทำงานอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนสูง ถึง 9 ถึง 10 ล้านคน นับว่าบริษัทเห็นช่องทางธุรกิจโดยเห็นว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ ได้รับการตอบสนอง ประกอบกับการแข่งขันที่สูงภายในประเทศทำให้หลายๆ โอเปอเรเตอร์ต้องหันมามองตลาดในต่างประเทศมากขึ้น การทำธุรกิจ MVNO สำหรับ ชาวต่างชาติในประเทศที่พัฒนาแล้วน่าจะเป็นการตอบโจทย์ที่เข้าเป้าเลยทีเดียว เนื่องจากปัญหาการใช้ภาษา ที่สามารถแก้ได้ด้วยการให้บริการหลังการขายด้วยภาษาประจำชาติ และคอนเทนต์ต่างๆ ที่เป็นภาษาของประเทศนั้นๆ รวมถึงการติดต่อสื่อสารกลับมายังบ้านเกิดเป็นความต้องการที่ขาดได้ยาก เราจึงเห็นหลายโอเปอเรเตอร์เริ่มเปิดตัวบริการในต่างประเทศด้วยโมเดลธุรกิจ MVNO มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ทางบริษัทยังเจรจากับบริษัทในประเทศไต้หวัน มาเก๊า ญี่ปุ่น และประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อให้บริการ MVNO ในประเทศนั้นๆ อีกด้วย ผู้ประกอบการ MVNO ส่วน ใหญ่ต้องเล่นบทบาทเป็นนักการตลาด เนื่องจากไม่สามารถสู้กับโอเปอเรเตอร์ที่มีโครงข่ายเป็นของตัวเองได้ในการ เสนอบริการพื้นฐาน ความเห็นหนึ่งจากประธานบริษัท Telestar บริษัทลูกของ MNI กล่าวว่าตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจ MVNO นั้น ไม่สามารถวัดด้วยจำนวนลูกค้า แต่ต้องดูกันที่ผลประกอบการทางด้านการเงินมากกว่า ฟังดูก็แน่นอนถ้ามีจำนวนลูกค้ามากมายแต่ขาดทุนก็ไม่มีความหมายใดๆ ต่อ Stakeholder เลย

ทางบริษัทมีลูกค้าอยู่สามกลุ่มด้วยกันคือ

- SIMfonia เป็นบริการที่เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าของ MNI Telecom เอง
- Ezo Mobile สำหรับตลาดที่เฉพาะเจาะจง (niche market) จริงๆ แบรนด์นี้เกิดขึ้นมาเพื่อกลุ่มที่สนใจในโหรฯศาสตร์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีหลังจากที่ได้เปิดตัวไป
- Snickers Mobile เป็นธุรกิจที่ทำให้กับทางผู้ผลิต Mars บริษัทผลิตขนมขบเคี้ยวที่เราคงคุ้นเคยกันนั้นเอง
ข้อมูลจาก: ทันกระแสโลกไอซีที (ICT World Trends)

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.